ย้อนกลับ

Destinations International และ PATA กับการสนับสนุน จุดหมายปลายทาง ในสถานการณ์โควิด-19

23 เม.ย. 2564

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นที่จับตามองจากทุกภาคส่วน มาตรการหนึ่งในการป้องกันโรคคืองดการชุมนุม เดินทาง ท่องเที่ยว รวมถึงทุกหน่วยงานต่างรณรงค์ให้ประชาชนกักกันตัวอยู่ในบ้านตามนโยบายของรัฐ แน่นอนว่ามาตรการเหล่านี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทุกภาคส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและไมซ์ที่จำเป็นจะต้องเดินทางเพื่อก่อให้เกิดรายได้

องค์การท่องเที่ยวโลกหรือ UNWTO (The World Tourism Organisation) คาดการณ์ว่าในปี 2020 นักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เดินทางเข้าแต่ละประเทศจะลดลง 20-30% ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมกราคมว่าจะโตขึ้น 3-4% (ข้อมูลเพิ่มเติม 
ที่นี่) หลายหน่วยงานที่ดูแลหรือรับผิดชอบการจัดการจุดหมายปลายทางจึงจำเป็นต้องหาแนวทางมาสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศเหล่านั้น โดยหนึ่งในองค์กรสนับสนุนจุดหมายปลายทางที่ใหญ่ที่สุดอย่าง Destinations International และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกหรือ PATA ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ออกมาให้ความสำคัญกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วย

1587395406key1

ขอบคุณภาพจาก Destinations International 

Destinations International องค์กรเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนจุดหมายปลาย

ทาง Destinations International คือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือสมาชิกให้ประสบความสำเร็จในการจัดการจุดหมายปลายทาง ผ่านการสนับสนุนเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับสมาชิก ทั้งให้ข้อมูล สร้างเครือข่าย สร้างแรงบันดาลใจ และให้ความรู้สมาชิกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตนเอง สร้างงาน สร้างชุมชนท่องเที่ยวที่ยั่งยืน รวมถึงสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านการเดินทาง


1587395584key2
ขอบคุณภาพจาก Destinations International

บทบาทของ Destinations International ในวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19
ในฐานะองค์กรดูแลและจัดการจุดหมายปลายทางที่ใหญ่ที่สุดในโลก Destinations International ได้มีการจัดตั้ง 
COVID-19: Response and Recovery Hub  หรือแพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์กลางการช่วยเหลือและฟื้นฟูสมาชิกของ Destinations International โดยมอบ “เครื่องมือ” ที่จำเป็น และข่าวสารที่ทันสมัยไม่ว่าจะเป็น

Webinar Center ซีรีส์สัมมนาออนไลน์รายสัปดาห์ที่ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 โดยผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก

Community Resources เป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นสถิติเกี่ยวกับการรับมือโควิด-19 ขององค์กรจุดหมายปลายทางที่ได้จากแบบสอบถามรายสัปดาห์ ข่าวสารและงานวิจัยที่จำเป็นสำหรับการฟื้นฟูอุตสาหกรรมในช่วงนี้ พื้นที่แลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงข้อมูลต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของรัฐและหน่วยงานพันธมิตรในแต่ละอุตสาหกรรมนอกจากนั้น ยังมีคู่มือรับมือวิกฤตให้สมาชิกดาวน์โหลดไปปรับใช้กับแต่ละจุดหมายปลายทางได้อีกด้วย


1587395806key3
ขอบคุณภาพจาก PATA 

PATA กับการช่วยเหลือประเทศไทยในสถานการณ์โควิด-19

PATA (The Pacific Asia Travel Association) หรือสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก  คือสมาคมไม่แสวงหาผลกำไรที่ช่วยเหลือพัฒนาด้านการเดินทางท่องเที่ยวภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยการสนับสนุน ทำวิจัย และสร้างกิจกรรมหรือนวัตกรรมให้กับองค์กรที่เป็นสมาชิก ซึ่งมีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โอกาสนี้ MICE Intelligence Center ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.มาริโอ้ ฮาร์ดี้ (Mario Hardy) CEO ของ PATA ถึงการช่วยเหลือประเทศไทยในสถานการณ์โควิด-19


ในสถานการณ์โควิด-19 PATA จัดทำ PATA Crisis Resource Centre หรือศูนย์ข้อมูลวิกฤต ซึ่งนำเสนอข้อมูลสำคัญที่ทันสถานการณ์ให้กับสมาชิกดร.ฮาร์ดี้ กล่าวว่า “ศูนย์ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นในระยะเวลาสองสัปดาห์ตามความต้องการของสมาชิกที่มีความต้องการในการเข้าถึงข้อมูลที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้ PATA มีความตั้งใจที่จะให้ศูนย์ข้อมูลนี้กลายเป็นแหล่งข้อมูลถาวร โดยจะรวบรวมข้อมูลอื่น ๆ ต่อไปและทำให้ทรัพยากรข้อมูลเหล่านี้ สามารถช่วยให้สมาชิกเตรียมความพร้อมรับมือวิกฤตการณ์ในอนาคตต่อไปได้”


ในระหว่างสถานการณ์โควิด-19 ดร.ฮาร์ดี้เห็นว่า แนวทางที่ภาครัฐจะช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือการให้เงินสนับสนุนเพื่อสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจในภายภาคหน้า “จุดหมายปลายทางที่สนับสนุนด้านการเงินให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ตอนนี้ จะมีจุดยืนที่แข็งแกร่งในภายภาคหน้า และฟื้นตัวได้เร็วกว่า PATA ยินดีทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) เพื่อผลักดันให้รัฐบาลไทยจัดสรรเงินทุนที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนฟื้นฟูอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเพื่อความมั่นคงยั่งยืนของเศรษฐกิจของชาติ”


“อุตสาหกรรมท่องเที่ยวคือกุญแจขับเคลื่อนเงินหลายพันล้านสู่เศรษฐกิจและสนับสนุนอีกหลายล้านตำแหน่งงาน รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องคุ้มครองหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวและช่วยเหลือสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น”

 

เมื่อสอบถามถึงแผนการช่วยเหลือฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 ของ PATA ดร.ฮาร์ดี้กล่าวว่า “ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีความยืดหยุ่น PATA เชื่อว่าตอนนี้คือเวลาที่ททท. และสสปน. ควรจะเตรียมความพร้อม ร่วมมือกันจัดทำแคมเปญการตลาดเพื่อปล่อยในช่วงหลังจากนี้ PATA และภาคเอกชนอื่น ๆ ยินดีที่จะร่วมทำงานอยู่เบื้องหลังแคมเปญเหล่านี้ และโปรโมตแคมเปญผ่านเครือข่ายของแต่ละหน่วยงานอย่างแน่นอน”
 
ทั้งนี้ พบกับสัมมนาออนไลน์โดยความร่วมมือระหว่าง PATA และ TCEB ในหัวข้อ Tourism Insights and Strategies to the COVID-19 Crisis ในวันอังคารที่ 30 เมษายน 2563 ตั้งแต่เวลา 15.00 น. – 17.00 น. ซึ่งจะนำเสนอประเด็นเจาะลึกอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกลยุทธ์รับมือวิกฤตโควิด-19 รวมถึงอัปเดตข้อมูลล่าสุดและวิเคราะห์สถิติเศรษฐกิจโดย Pamela Qiu จาก 
Economist Corporate Network ข่าวสารการจองเที่ยวบินโดย Olivier Ponti จาก ForwardKeys เจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคและเทรนด์ล่าสุดโดย Ted Sullivan จาก ADARAInc. และพูดคุยถึงกลยุทธ์และวิธีรับมือพร้อมรับการฟื้นฟูหลังสถานการณ์โควิด-19 ใน Panel Discussion กับ Oliver Martin จาก Twenty31 และ AL Merschen จาก MMGY Global ติดตามช่องทางลงทะเบียนได้เร็ว ๆ นี้ (งานสัมมนานี้สามารถเข้าร่วมได้ทั้งผู้ที่เป็นและไม่ได้เป็นสมาชิกของ PATA)

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 และความเคลื่อนไหวของธุรกิจไมซ์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้ที่ ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 จัดทำโดย TCEB

แหล่งข้อมูล:
- บทสัมภาษณ์ Dr. Mario Hardy CEO จาก The Pacific Asia Travel Association
- กระทรวงการท่องเที่ยวและโรงแรม, Myanmar.(2563).  สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก.  เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563, จาก https://tourism.gov.mm/th/pacific-asia-travel-association/
- Destinations International.  (2020).  Retrieved on April 14, 2020 from https://destinationsinternational.org/
- UNWTO. (2020). Tourism And COVID-19. Retrieved on April 14, 2020 from https://www.unwto.org/tourism-covid-19