ย้อนกลับ

พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส: อุตสาหกรรมไมซ์ปรับตัว รับมืออย่างไร กับสถานการณ์ระบาด ของโควิด-19

23 เม.ย. 2564

อุตสาหกรรมไมซ์ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับพบปะสื่อสารเพื่อให้เกิดเครือข่ายทางธุรกิจใหม่ ๆ เช่น จัดงานประชุม สัมมนา หรืองานแสดงสินค้าล้วนกำลังประสบปัญหากับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เมื่อผู้คนออกมาพบปะกันไม่ได้ ไม่เกิดการเดินทาง ไม่เกิดการพักค้างคืน ไม่เกิดการใช้จ่าย ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ควรปรับตัวอย่างไรให้เดินหน้าต่อไปได้ และใช้วิกฤตนี้สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจของคุณ

ขอบคุณภาพจากโรงแรมแคนทารี เบย์ ระยอง
1586774584k1
ปรับธุรกิจจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว
ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเพื่อสร้างอะไรใหม่ แต่ปรับจากธุรกิจที่คุณมีอยู่แล้ว มีหลากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ ที่ขยายจากสิ่งที่ตนเองทำอยู่แล้วไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ เช่น ธุรกิจโรงแรมในส่วนของร้านอาหาร ที่ปิดการให้บริการสำหรับลูกค้าภายนอกที่ไม่ใช่แขกที่เข้าพักในโรงแรม หลายโรงแรมมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการด้วยบริการ Food Delivery รวมถึงออกโปรโมชั่นและเมนูอาหารชุดรูปแบบใหม่ในราคาย่อมเยา อาทิ โรงแรมไอบิส สไตลส์ แบงค็อก รัชดา และโรงแรมดวงตะวัน เชียงใหม่ และอีกวิธีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการขายห้องพัก เช่น ขายห้องพักระยะยาวแบบเหมาจ่ายในราคาประหยัด เช่น โรงแรมแคนทารี เบย์ระยอง มีโปรโมชั่น “หนีไปให้ไกลกรุง” ขายห้องพักระยะยาวแบบเหมาจ่าย 7 วัน รวมค่าอาหาร 3 หรือ 4 มื้อ แล้วแต่แพ็กเกจ หรือโรงแรมไฮเรสซิเดนซ์ ที่มีแคมเปญ “14 Days Away COVID” เปิดให้กักตัว 14 วัน โดยเป็นแบบเหมาจ่ายรวมค่าอาหารและมีแม่บ้านทำความสะอาดฆ่าเชื้อ
โรงแรมเกย์เธอริ่ง (Hotel Gaythering) โรงแรมในไมอามี่ที่มีจุดขายคือสนับสนุน LGBTQ+ ประกาศปิดตัวชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่พนักงานของโรงแรมแห่งนี้ยังคงทำงานเพื่อสื่อสารกับแขก สร้างโอกาสให้คนในชุมชน LGBTQ+ ทั้งแดร็กควีน (Drag Queen) หรือนักสร้างความบันเทิงอื่น ๆ ที่เป็นชาว LGBTQ+ พวกเขายังคงทำงานเพื่อตอบสนองสิ่งพื้นฐานที่สุดที่มนุษย์ต้องการอย่าง “ความต้องการที่จะพบปะกัน” ที่โรงแรมเกย์เธอริ่ง มี “วิลเลจ สแควร์ส” (Village Square) เป็นพื้นที่ให้ลูกค้าได้รวมตัวกันทั้งพบปะกันซึ่งหน้า (ซึ่งแน่นอนว่าใช้บริการไม่ได้ในเวลานี้) และแบบ Virtual ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผู้คนจำเป็นต้องกักกันตัว ชาว LGBTQ+ ยังคงต้องการพื้นที่ที่ “ยอมรับ” พวกเขา และวิลเลจสแควร์ของโรงแรมเกย์เธอริ่งเปิดรับพวกเขาเสมอ แม้พบแบบเผชิญหน้ากันไม่ได้ ก็ยังเชื่อมต่อกันได้ผ่านระบบออนไลน์ นอกจากจะช่วยคนโรงแรมทำงานต่อไปได้อย่างปลอดภัย ยังช่วยสร้างพื้นที่ของ LGBTQ+ ตามนโยบายของโรงแรม และรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าประจำจากการสื่อสารอยู่เสมออีกด้วย
ขอบคุณภาพจาก Techsauce
1586775387k2
ดูแลลูกค้าและคู่ค้า 
งานประชุมเกี่ยวกับการรับมือโควิด–19 ของ TECHSAUCE เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ในหัวข้อ "วิธีรับมือกับ COVID-19 ของอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจโฮสเทล" คุณธีร์ ฉายากุล ผู้จัดการทราเวลโลกา (Traveloka) ประจำประเทศไทย กล่าวถึงสิ่งที่จำเป็นต้องทำสามอย่าง คือการดูแลลูกค้า การดูแลคู่ค้า และพิจารณาโมเดลธุรกิจของตัวเอง การดูแลลูกค้านั้นหมายถึง วางแผนเตรียมพร้อมรับมือการยกเลิกหรือเปลี่ยนการจองของลูกค้าในช่วงโควิด–19 โดยเพิ่มช่องทางติดต่อให้ลูกค้า และเพิ่มบุคลากรที่จะตอบคำถามของลูกค้าได้ทันท่วงที ส่วนการดูแลคู่ค้า คือดูแลคู่ค้าในแต่ละภาคส่วน สำหรับทราเวลโลกาคือสายการบิน และโรงแรม ว่าธุรกิจของเราในฐานะผู้ร่วมอุตสาหกรรมไมซ์ จะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไรบ้าง 


1586775609key3

สื่อสารถึงความพร้อมของธุรกิจ: ร่วมรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19
อีกสิ่งหนึ่งซึ่งจำเป็นอย่างยิ่ง นอกเหนือจากการมองหาโอกาสในการทำธุรกิจต่อไปและความปลอดภัยของคนในอุตสาหกรรมด้วยกันเอง คือการสื่อสารถึงความพร้อมรับมือสถานการณ์ของธุรกิจ ด้วยมาตรการในการมีส่วนร่วมต่อการรับมือสถานการณ์โควิด-19 เช่น เดอะ ควอเตอร์ เรซิเดนซ์ และ โรงแรมอิสติน ตัน โฮเทล เชียงใหม่ เปิดให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าพักเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้บุคลากรพักผ่อนเต็มที่ โรงแรม นาใต้ บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา ให้เข้าพักฟรี เพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบและยังตกค้างในประเทศไทยจากวิกฤติโควิด-19 โรงแรม โอโย 419 มาลีวัลย์ จอมเทียน พัทยา และโรงแรม ณ บางลำพู กรุงเทพฯ ในเครือโอโย ประเทศไทย ให้บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐในกรุงเทพฯ และพัทยาเข้าพักโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลาของการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 เมษายนนี้ หลังจากกรุงเทพฯ และพัทยาเป็นสองพื้นที่ที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวนมากขึ้น รวมทั้งโรงแรมต่าง ๆ ที่ประกาศปรับให้โรงแรมเป็นสถานพยาบาลพิเศษ หรือโรงแรมกักตัวผู้ป่วยโควิด-19 นอกจากจะได้ใจผู้คน ทั้งเรื่องการช่วยเหลือสังคมและความพร้อมในการรับมือสถานการณ์แล้ว ยังทำให้กิจการเป็นที่จดจำอีกด้วย
นอกจากนี้ TCEB ยังจัดทำศูนย์ข้อมูลโควิด-19  เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและสื่อสารข้อมูลอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่รวบรวมจากสมาคมต่าง ๆ เพื่อให้ไมซ์ไทยทันทุกข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 และรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

แม้สถานการณ์ตอนนี้จะลำบากแต่ใช่ว่าจะไม่มีทางออกเสียทีเดียว ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว อาจใช้สิ่งใกล้ตัวต่อยอดไปสู่สิ่งใหม่ ๆ หรือสื่อสารมากขึ้นเพื่อให้ผู้คนจดจำธุรกิจของตน รวมถึงคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของบุคลากรของตน ซึ่งเป็นกำลังหลักในการฟื้นฟูธุรกิจในภายภาคหน้า นอกจากจะได้โมเดลธุรกิจใหม่ที่อาจต่อยอดไปสู่ระยะยาวได้โดยที่ยังรักษาความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับลูกค้า และธุรกิจกับคู่ค้าแล้ว ยังช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้พนักงาน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ทั้งด้านช่วยเหลือสังคมและความพร้อมในการรับมือวิกฤตให้กับธุรกิจอีกด้วย


แหล่งข้อมูล: 

- ประชาชาติธุรกิจ.  (2563, เมษายน). ‘ท่องเที่ยว’ ดับทุกเซ็กเตอร์ ทยอยปิดตัว-ปรับโมเดล.  ประชาชาติธุรกิจ, 42 (5243), 17.
- ประชาชาติธุรกิจ.  (2563).  “ไฮเรสซิเดนซ์” ชูโปรเจ็กต์ รองรับคนกักตัว 14 วัน.  เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563, จาก https://www.prachachat.net/tourism/news-443594
- พรไพลิน จุลพันธ์.  (2563, เมษายน).  โรงแรมแปลงร่างรับมือโควิด เปิดห้องรับผู้ป่วยกักตัว-แพทย์.  เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563, จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/874739
- มณีรัตน์ จันทร์เคน.  (2563). ธุรกิจ ‘โรงแรม’ ทำอะไรได้บ้าง? ช่วงวิกฤตโควิด-19.เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563, จาก https://www.phoenixproperty.co.th/blogs/news/3270